ท่านผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก
ท่านผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการซีมีโอ
คณะทูตานุทูต และผู้แทนหน่วยงานในเครือสหประชาชาติ
ท่านผู้มีเกียรติ
ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาร่วมกับท่านในพิธีฉลองเนื่องในวาระครบรอบ
100 ปีแห่งชาตกาลของ ฯพณฯ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ในปี 2546 เนื่องในโอกาส
ดังกล่าวยูเนสโกได้ยกย่องให้ ฯพณฯ เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้วยเหตุนี้รัฐบาลไทยจึงได้พิจารณาเห็นสมควรจัดพิธีฉลองอาคารแห่งนี้
ซึ่งจะมีชื่อว่า อาคาร 100 ปี ม.ล.ปิ่น มาลากุล
ข้าพเจ้าขอขอบคุณนายโคอิชิโระ มัทซึอุระ ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก ที่ได้กรุณามาร่วมและประกอบพิธีนี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งขอขอบคุณสำนักงานยูเนสโก ณ กรุงเทพฯ และ สำนักเลขาธิการซีมีโอ
ที่ได้ให้ความอนุเคราะห์ในการจัดพิธีดังกล่าว
รัฐบาลไทยได้อนุมัติให้กระทรวงศึกษาธิการใช้งบประมาณเป็นจำนวน 5.99
ล้านบาท เพื่อการซ่อมแซมตกแต่งอาคารดาราคารเดิม ซึ่งนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการจัดฉลอง
วโรกาสอันสำคัญยิ่งนี้
ผู้มาร่วมในพิธีประกอบด้วยบรรดาญาติมิตรและศิษยานุศิษย์ของ ฯพณฯ ข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการและแขกผู้มีเกียรติที่ได้รับเชิญทั้งในและต่างประเทศทุกท่านเหล่านี้ล้วนชื่นชมในผลงานของ
ฯพณฯ และระลึกถึง ฯพณฯ อยู่เสมอ มิใช่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น
แต่ในฐานะนักการศึกษาผู้อุทิศตนและทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อประโยชน์แก่งานด้านการศึกษาของประเทศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความเสมอภาคและคุณภาพทางการศึกษา การพัฒนาครูชนบท
และความร่วมมือนานาชาติในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม
ฯพณฯ ได้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในกิจการต่างๆของยูเนสโก โดยได้เข้าร่วมการประชุมต่างๆ
เช่น
- 2493 การสัมมนานานาชาติว่าด้วยการศึกษาผู้ใหญ่ในเขตชนบท ที่เมืองไมซอร์
ประเทศอินเดีย โดย ฯพณฯ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการและผู้ประสานงานการสัมมนา
- 2493 การประชุมคณะทำงานอีคาเฟ่-ยูเนสโก ซึ่งมีขึ้นที่กรุงเทพฯ โดย ฯพณฯ
เป็นประธาน
- 2494 การประชุมนานาชาติว่าด้วยการศึกษา ซึ่งสำนักงานการศึกษาระหว่างประเทศได้จัดขึ้นที่กรุงเจนีวา
ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
- 2494 ฯพณฯ ได้รับเลือกเป็นกรรมการบริหารยูเนสโก และดำรงตำแหน่งดังกล่าวถึง
2 สมัยติดต่อกัน
ในการประชุมรัฐมนตรีศึกษาธิการและผู้รับผิดชอบการวางแผนเศรษฐกิจในเอเชียในปี
2505 และ 2508 ฯพณฯ เป็นประธานการประชุม และได้ปรึกษาหารืออย่างไม่เป็นทางการกับรัฐมนตรีศึกษาธิการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นผลให้มีการก่อตั้งองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(ซีมีโอ) ขึ้น นอกจากนี้ ฯพณฯ ได้ส่งเสริมให้จัดตั้งศูนย์วิชาการในมวลประเทศสมาชิกซีมีโอ
รวมทั้งก่อตั้งสำนักงานเลขาธิการซีมีโอซึ่งไทยรับเป็นประเทศเจ้าภาพอยู่จนถึงปัจจุบัน
ฯพณฯ ได้ดำรงตำแหน่งอาจารย์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเป็นจำนวนมากทั้งในกรุงเทพฯ
และในเขตชนบท ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร
และมหาวิทยาลัย
ศรีนครินทรวิโรฒ ก่อตั้งวิทยาลัยฝึกหัดครูเกือบทั่วประเทศ ซึ่งรวมเขตชนบทห่างไกล
เช่น เชียงราย มหาสารคาม (ซึ่งบัดนี้เป็นสถาบันราชภัฏ) รวมทั้งวิทยาลัยหมู่บ้านที่จอมบึง
ราชบุรีเพื่อฝึกหัดครูชนบททั้งยังช่วยเหลืองานของคุรุสภาและสมาคมส่งเสริมการศึกษาของครูในภาคฤดูร้อนภายใต้ความอุปถัมภ์ของคุรุสภา
ด้วยเหตุนี้ ฯพณฯ จึงเป็นที่เคารพเทิดทูนในหมู่ผู้ที่อยู่ในวงการการศึกษาโดยทั่วไป
เอตทัคคะในภาษาไทยและต่างประเทศ ฯพณฯ ได้ประพันธ์งานประพันธ์รวมกว่า 200
ผลงานด้วยกัน แบ่งออกได้เป็น บทความด้านการศึกษา 57 เรื่อง ละคร 58 เรื่อง
ร้อยกรอง 32 บท เล่าเรื่องการเดินทาง 8 เรื่อง และบทความทางวิชาการและงานเบ็ดเตล็ดรวม
5 เรื่อง จากผลงานดังกล่าวรัฐบาลไทยจึงได้ประกาศยกย่อง ฯพณฯ เป็นศิลปินแห่งชาติในสาขาวรรณศิลป์เมื่อปี
2530
ในโอกาสที่กระทรวงศึกษาธิการ ยูเนสโก และซีมีโอได้ร่วมกันจัดงานฉลองครั้งนี้
ข้าพเจ้าขอยกคำกล่าวของ ฯพณฯ ดร.ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์ ผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการซีมีโอคนแรก
กรรมการบริหารยูเนสโก และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นศิษย์ของ
ฯพณฯ ด้วยผู้หนึ่ง และได้ร่วมงานกับ ฯพณฯ อย่างใกล้ชิดโดยตลอด ฯพณฯ ดร.ก่อฯ
กล่าวว่า
.. อาจารย์หม่อมหลวงปิ่น ท่านเกิดมาเพื่อทำงาน และท่านมีความสุขเมื่อได้ทำงาน
และท่านทำอย่างสนุกสนาน ดูเหมือนว่ายิ่งทำงานท่านยิ่งชอบ ยิ่งได้ทำงานมากๆ
ท่านยิ่งสนุก
ข้าพเจ้าเองได้ศึกษาติดตามผลงานอันน่าชื่นชมของ ฯพณฯ ม.ล.ปิ่นฯ มาโดย
ตลอด ทั้งยังได้สืบทอดตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงขอน้อมรำลึกถึงคุณประโยชน์นานัปการของ
ฯพณฯ ต่อประเทศชาติ และยินดียิ่งที่จะประกอบพิธีฉลองอาคาร 100 ปี ม.ล.ปิ่น
มาลากุล ซึ่ง ฯพณฯ ได้ก่อตั้งเมื่อปี 2512 และจะมีชื่อเรียกว่า อาคาร 100
ปีหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล สืบต่อไป
ข้าพเจ้าขอขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมในงานพิธีเพื่อน้อมรำลึกถึงเกียรติคุณของปูชนียบุคคลของประเทศชาติของเรา
และหวังว่างานฉลองครบรอบ 100 ปีแห่งชาตกาลของ ฯพณฯ คงจะช่วยเตือนใจเราทุกคนให้ระลึกถึงบทประพันธ์ของท่านซึ่งเราทุกคนยังนิยมชมชอบตราบจนบัดนี้
กล้วยไม้มีดอกช้า ฉันใด
การศึกษาเป็นไป เช่นนั้น
แต่ออกดอกคราวไร งามเด่น
งานสั่งสอนปลูกปั้น เสร็จแล้วแสนงาม |
|