อาคาร
๑๐๐ ปี หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล |
ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การศึกษา
วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เมื่อวันที่ ๑ มกราคม
๒๔๙๒ และมีโครงการความร่วมมือระหว่างกันเป็นจำนวนมากส่งผลให้มีการจัดตั้ง
สำนักงานหัวหน้าผู้เชี่ยวชาญ ขึ้นในประเทศไทยโดยใช้กระทรวงศึกษาธิการเป็นที่ทำการสำนักงานนี้ได้มีการ
เปลี่ยนย้ายไปหลายแห่งตามความเหมาะสม และในที่สุดก็ได้ย้ายไปอยู่ที่อาคารที่เคยเป็นที่ตั้งของกระทรวง
วัฒนธรรม ณ สนามเสือป่า พระนคร |
ปี
พ.ศ.๒๕๐๓ องค์การยูเนสโก ได้มีแผนงานที่จะดำเนินการช่วยเหลือรัฐสมาชิกเป็นกลุ่ม
ๆ เช่นกลุ่มอเมริกาใต้ กลุ่มตะวันออกกลาง และกลุ่มเอเชีย เป็นต้น ซึ่งแต่ละกลุ่มจะต้องมีสำนักงานเป็นของตนเอง
เรียกว่า สำนักงานส่วนภูมิภาค สำหรับกลุ่มเอเชียนั้น องค์การยูเนสโกได้จัดตั้งสำนักงานดังกล่าวที่กรุงเทพฯ
ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงมีความจำเป็น ที่จะต้องขยายสำนักงานหัวหน้าผู้เชี่ยวชาญประจำประเทศไทยเป็น
สำนักงานภูมิภาคสำหรับเอเชียและเพื่อเป็นการรองรับงานที่มีจำนวนมากขึ้นจึงต้องจัดสร้างอาคารขึ้นใหม่
สำหรับการนี้โดยตรง |
ในปลายปี
๒๕๐๘ องค์การยูเนสโกได้จัดประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของกลุ่มเอเชียขึ้น
ที่กรุงเทพฯ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของไทยในขณะนั้น คือ
หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล และเมื่อเสร็จสิ้นการประชุมแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของกลุ่มดังกล่าว
ได้มาประชุมหารือ กันที่กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน
๒๕๐๘ เพื่อปรึกษาหารือเรื่องความร่วมมือระหว่างกัน เป็นผลให้เกิดการจัดตั้งองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(ซีมีโอ) (Southeast Asian Ministers of Education Organization: SEAMEO)
ขึ้น และมีการจัดตั้งสำนักงานของ สำนักเลขาธิการองค์การซีมีโอชั่วคราว
(Southeast Asian Ministers of Education Secretariat: SEAMES) ในกระทรวงศึกษาธิการเช่นกัน
โดยมี นายก่อ สวัสดิพาณิชย์ เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ |
ปี
พ.ศ. ๒๕๑๑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของซีมีโอ ได้ประชุมสภารัฐมนตรีว่าการประจำปีครั้งที่
๓ ที่ประเทศสิงคโปร์ และที่ประชุมได้มีมติเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์
ให้ตั้งสำนักงานถาวรขององค์การที่กรุงเทพฯ โดยมีนายสุกิจ นิมมานเหมินทร์
เป็นผู้อำนวยการของสำนักงานคนแรก |
กระทรวงศึกษาธิการเห็นความจำเป็นในการจัดตั้งอาคารของสำนักงานส่วนภูมิภาคของยูเนสโก
และสำนักเลขาธิการซีมีโอ จึงได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติเงินจำนวน
๑๒ ล้านบาท เพื่อจัดสร้างอาคารเป็นที่ตั้งของสำนักงานส่วนภูมิภาคของยูเนสโกและสำนักเลขาธิการซีมีโอบริเวณถนน
สุขุมวิท (ใกล้ท้องฟ้าจำลอง) โดยมีพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๓ มกราคม
๒๕๑๒ และเปิดใช้ทำการ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ทั้งนี้กระทรวงศึกษาธิการได้จัดสรรงบประมาณเพื่อใช้เป็นค่าสาธารณูปโภคและเงินอุดหนุนสำหรับ
สำนักงานส่วนภูมิภาคของยูเนสโกและสำนักงานซีมีโอ ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอาคารดาราคารด้วย |
ปี
พ.ศ.๒๕๔๕ กระทรวงศึกษาธิการได้พิจารณาเห็นชอบให้มีการซ่อมแซมอาคารดาราคาร
โดยใช้เงินอุดหนุน ประจำปีงบประมาณ ๒๕๔๕ จำนวน ๕,๙๙๑,๙๔๕ บาท และพิจารณาเห็นว่าในอดีต
ม.ล. ปิ่น มาลากุล เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในองค์การยูเนสโก เป็นผุ้ก่อตั้งสำนักเลขาธิการซีมีโอและเป็นผู้ก่อตั้งอาคารดาราคาร
แห่งนี้ ดังนั้นจึงเห็นสมควรสร้างอนุสรณ์ให้ ม.ล. ปิ่น มาลากุล และร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสที่องค์การ
ยูเนสโก ได้ประกาศยกย่องให้ท่านเป็นบุคคลสำคัญ ที่มีผลงานดีเด่นทางด้าน
การศึกษา วัฒนธรรม วรรณกรรม และการสื่อสารในโอกาสครบรอบวันเกิด ๑๐๐
ปี ในวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๖ นี้ด้วย และกระทรวงศึกษาธิการ ได้พิจารณาเห็นชอบให้เปลี่ยนชื่ออาคารหลังนี้ใหม่ว่า
อาคาร ๑๐๐ ปี หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล (Mom Luang Pin Malakul Centenary
Building) นอกจากเปลี่ยนชื่ออาคารแล้ว ยังได้จัดสร้างรูปหล่อสำริด
ม.ล.ปิ่น มาลากุล ขนาดเท่าตัวจริงครึ่งตัวพร้อมฐานไว้ที่อาคารแห่งนี้
โดยมีพิธีเปิดอาคารแห่งนี้อย่างเป็นทางการใน วันศุกร์ ที่ ๒๗ ธันวาคม
๒๕๔๕ |